วัฒนธรรมสุรินทร์


ประเพณีการแต่งกาย
            การแต่งกายของชาวสุรินทร์ เชื้อสายเขมร มีลักษณะคล้ายคลึงกับคนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แทบทุกประเทศ นั่น คือ ผู้ชายนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งซิ่น แต่ความแตกต่างอยู่ที่วัสดุที่ใช้ในการทำโสร่งหรือซิ่น ชาวสุรินทร์ นิยมใช้ไหม ในการทำสิ่งเหล่านี้ สตรีชาวสุรินทร์ ยามอยู่บ้านตามปกติจะนิยม ใส่ผ้าซิ่นไหมที่ทอสลับสีกัน ถ้าเป็นผ้าซิ่นสีเขียวขี้ม้าสลับขาว เรียกว่า ผ้าสระมอ ส่วนผ้าสีส้มสลับขาว เรียกว่า ผ้าสาคู แต่ถ้าหาก ไปงานสำคัญหรืองานพิธีต่างๆที่ต้องออกจากบ้าน มักนิยมใส่ผ้าซิ่นที่มีลักษณะ สวยงามเป็นพิเศษ เช่น ผ้าโฮล หรือผ้ามัดหมี่ ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อผ้าไหมที่ทอยกดอก และมีสไบเฉียงเป็นลายยกดอกด้วย

ประเพณีโกนจุก
                   ชาวสุรินทร์ ในอดีตนิยมไว้ผมให้กับเด็กๆ เนื่องจากมีความเชื่อว่า ผมจุกตรงกระหม่อมช่วยกันไม่ให้ กระหม่อมที่บาง โดนน้ำค้างซึ่งอาจทำให้เด็กเป็นหวัดได้ พออายุประมาณ 9,11,13 ขวบ ซึ่งโตแล้วต้องทำพิธีตัดจุกออกเสีย พิธีโกนจุกจึงมีขึ้น การเตรียมพิธีโกนจุกนั้นมีอยู่หลายอย่าง สิ่งแรก คือ ขนมชนิดต่างๆ ต่อมาก็มีบายศรี เมื่อทำบายศรีเสร็จก็เอาผ้าไหมใหม่ๆหุ้มห่อบายศรีนั้นไว้ ปะรำพิธีสำหรับพระสงฆ์ และเด็กขึ้น ทำพิธีโกนผม เป็นลักษณะเสาต้นกล้วยประกอบไม้ไผ่มีปลาย แหลมข้างบน พิธีจะเริ่มในตอนเย็น โดยนิมนต์พระสงฆ์ มาสวดมนต์เย็น ก่อนถึงเวลาสวดมนต์ จะจัดข้าวปลาอาหารสุกใส่ถาด มาเซ่นบอกผี ปู่ ย่า ตา ยาย ให้อวยพรให้ลูกหลานอายุมั่นขวัญยืน หลังจากนั้นแต่งตัวให้เด็กที่จะโกนจุกด้วยผ้านุ่งขาว มีผ้า ขาว เฉลียงบ่า อาจารย์จะเกล้าผมเด็ก เอาปิ่นปักผมให้ และมีกำไลจุกด้วย หลังจานั้นก็ใส่มงคล ซึ่งทำจากใบตาล ตัดแต่ง เป็นวงขนาดสวมหัวของเด็กพอดี ขณะที่สวมมงคลก็สวดคาถาไปพร้อมๆกัน ในปะรำพิธีนอกจากมี ต้นบายศรีแล้ว ยังมี "ประต็วล" (เป็นไม้ไผ่ผ่าซีกสานเป็นรูปร่างคล้ายกระดิ่งคว่ำหรือระฆังหงาย มีด้ามสั้นๆ สำหรับมัดติด กับเสา เอากระปุกน้ำใส่ ในนั้นเอากรวยห้า(ขันธ์ 5) ใส่ด้วยเชื่อว่าเป็นสถานที่รองรับพระพรหม ซึ่งเป็นเทพชั้นสูงไม่ลงถึงพื้นจึงต้องมีที่สถิตเพื่ออวยพร) มีกระเฌอข้าวเปลือก ใบขวาน ไข่ไก่ และ "บายปะลึง" (คือมีขันข้าว ไข่ไก่ น้ำตาลใส่ในขันเอาใบตองทำกรวยคว่ำครอบปิดไว้ มีใบตองที่ทำเสมือนธงยื่น ขึ้นไปด้วย และมีมะพร้าวอ่อนเตรียมไว้ด้วย) เมื่อแต่งตัวเด็กเสร็จ ก็พาไปนั่งที่ปะรำบนฟูกต่อหน้า "ปะต็วล” แล้ว เอาข้าวปลาอาหาร เครื่องเซ่นปู่ย่าตายาย ทำการเซ่นบอกว่าลูกหลานจะทำพิธีโกนจุกแล้ว ขอบอกให้ทราบขอเชิญ มากินมาดื่มเถิด สักครู่ก็ยกออกไปเซ่นพระภูมิเจ้าที่ข้างล่าง บอกเชื้อเชิญเช่นกัน เมื่อเสร็จแล้ว ก็นำถาดกลับมาพร้อมสายสิญ ที่ถือว่าตายายให้พรมาแล้ว เอามาผูกแขนเด็กก่อนนิดหนึ่ง อวยชัยให้พรว่า บัดนี้หนูโตแล้ว ต่อไปขอให้ช่วยพ่อแม่ทำงานจะได้ เป็นที่พึ่งของพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า เมื่อทำพิธีเสร็จ ก็กินข้าวปลาอาหาร เมื่อพระสงฆ์นิมนต์มาถึง ก็พาเด็กไปนั่งประนมมือฟังพระ สวดมนต์จนจบแล้วทำพิธีสู่ขวัญ เสร็จแล้วโห่ 3 ลา อาจารย์จะสวดมนต์ต่ออีกระยะหนึ่งเป็นเสร็จพิธีในวันนั้น ตอนเช้าวันโกนจุก จะแต่งตัวเด็ก ใหม่ คือแจกผมเป็น 3 หย่อม เอาแหวนพิรอดที่ทำด้วยหญ้าแพรก 9 วง มาผูกติด ผมจุก แล้วเกล้าจุกปักปิ่น สวมกำไลจุก สวมมงคล ทาแป้ง แต่งผ้าขาวทั้งชุด มีสร้อยคอทองคำ แหวนทองคำเต็มตัว เมื่อลงมา ถึงดิน อาจารย์ ว่าคาถา ขณะเดียวกันก็เดินวนประทักษิณเบญจา 3 รอบ เสร็จแล้วก็พาขึ้นไปนั่งบนปะรำที่ทำลักษณะใบบัว พระสงฆ์ขึ้นตาม อาจารย์ขอสมาทานศีล 5 แล้วกล่าวคำให้สวดโกนจุก ในการทำพิธีโกนจุก จะให้เด็กนั่งตรงกลาง พระสงฆ์ ยืนทั้งสี่มุม มีบาตรน้ำมนต์ที่เอามาจากการสวดพระปริตตอนเย็น มีใบบัวลอยบนผิวน้ำในบาตร เมื่อตอนจะโกนจุกพระสงฆ์ สวดมนต์บทชยันโตฯ เป็นการสวดไม่ยาวนัก พระสงฆ์จะหยิบกรรไกรตัดแล้วนิดหนึ่ง แล้วโกนพอเป็นพิธี อาจารย์จะโกนต่อ จนเกลี้ยง โดยพระสงฆ์จะยังสวดมนต์และรดน้ำมนต์ต่อเนื่องเรื่อยๆจนเสร็จ ผมที่โกนเอาใบบัวรองรับแล้วเอาไปลอยสายน้ำ ที่ไหล บางคนเก็บเอาไว้บูชาก็มี

ประเพณีบวชนาค
                  ชาวสุรินทร์ ทั้งเขมร ส่วย ลาว ล้วนนับถือพุทธศาสนาทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อลูกชายมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ก่อนจะ มีเหย้ามีเรือน พ่อแม่จะต้องจัดการบวชเพื่อให้ได้ศึกษาพระธรรมในพุทธศาสนาก่อน ซึ่งส่วนมากจะทำก่อนเข้าพรรษา สิ่งที่จะขาดไม่ได้ในสังคมเขมรคือการเซ่นบอกกล่าวแก่วิญญาณบรรพบุรุษ มีการจัดสำรับข้าวปลาอาหารไปทำพิธี จุดธูปเทียน เซ่นบอกผี การสู่ขวัญนาคเป็นอีกพิธีหนึ่งในการบวชนาค เป็นการเรียกขวัญให้มาสู่ตัวเจ้าของ

สิ่งที่ใช้ประกอบ ในพิธีสู่ขวัญมีดังนี้
                  ๑. ข้าวสาร 1 ขัน
               ๒. กรวย 5 ธูป 1 คู่ เทียน 1 คู่ และเงินตามที่อาจารย์ถือต่างกัน
               ๓. ฝาเต้าปูน 9 อัน หรือ 3 อันก็มี
               ๔. ด้ายผูกแขน
               ๕. บายปะลึง
               ๖. บายศรีต้น

               เมื่อได้มาแล้ว เขาจะปูเสื่อเอาฟูกพับครึ่ง วางหมอนบนฟูก เอาผ้าขาวปูทับอีกชั้นหนึ่ง ให้นาคมานั่งบนฟูกพนมมือ ฟังอาจารย์สู่ขวัญ เนื้อหาการสู่วัญส่วนใหญ่จะเป็นการบอกกล่าวเทวดา อารักษ์ บอกถึงประวัติการบวชนาค การเชิญขวัญ บอกถึงความลำบากยากเย็นในการฟูมฟักเลี้ยงดูของบิดามารดา และอวยชัยให้พรในการบวช เมื่อสู่ขวัญมีการโห่ร้องเอาชัย ต้อนรับขวัญ ผูกแขนเรียกขวัญ มีการจุดเทียนชัยส่งเทียน ต่อกันวนขวา ไปรอบๆตัวนาค 3 รอบ การทำขวัญนาคเป็นการ อบรมผู้บวชอย่างหนึ่ง การแห่นาคไปบวช การบวชนาคนั้นนิยมบวชพร้อมๆ กันหลายๆคน การแห่นาคไปวัดจะใช้ช้างแห่นาคไป ซึ่งจะ แต่งแต้มตัวช้างอย่างสวยงาม การใช้ช้างในการแห่นาค บางครั้งเป็นการบ่งบอกถึงฐานะของผู้บวชด้วย

ประเพณีแต่งงาน
                ในการแต่งงานของชาวสุรินทร์ เมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงใจที่จะแต่งงานกัน จะต้องตกลงกันในการพิจารณา เชิญแขก โดยทั่วไปในการแต่งงานแขกจะเป็นผู้จัดหาของขวัญมากำนัลคู่บ่าวสาว คู่บ่าวสาว จะเลี้ยงอาหาร ขอบคุณแขก แต่ ชาวสุรินทร์หากเป็นแขกผู้ใหญ่หรือญาติสนิทที่เคารพนับถือ คู่บ่าวสาวจะจัดผ้าไหมมาไหว้แขก ในปัจจุบันฝ่ายเจ้าสาวจะเป็น ผู้ไหว้ญาติฝ่ายเจ้าบ่าว นัยว่าแนะนำตัวหรือฝากเนื้อฝากตัวเข้าร่วมวงศ์ตระกูล และผู้รับไหว้จะต้องเตรียมเงินทองผูกแขนให้ เหมาะสมกับสิ่งที่รับไหว้ ในธรรมเนียม แต่งงานของชาวส่วย การไหว้แขกผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหญิงจะไหว้ญาติฝ่ายชาย ชายโดยไหว้ผ้าไหม จะเป็นผ้าซิ่น โสร่ง หรือผ้าขาวผ้าหรือผ้าฝ้าย ส่วนฝ่ายชายจะไหว้ญาติเจ้าสาวโดยสิ่งที่ไหว้ มักเป็นไก่ (ไก่เป็น) น้ำตาลอ้อย ขันน้ำ ฯลฯ ตามความเหมาะสม และญาติก็จะต้องเตรียมเงินรับไหว้ ตาม ความเหมาะสมเช่นกัน

ประเพณีตรุษสงกรานต์ ตรุษสงกรานต์
                  คือการทำบุญตามประเพณี ขึ้นปีใหม่ของชาวบ้านของไทย สำหรับชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร จะมีพิธีกรรม ดังนี้ ในวันแรม 13-14 ค่ำ เดือน 4 จะมีการหยุดทำกิจการงานทุกอย่าง ซึ่งเรียกว่า "ตอม" 3 วัน เพื่อร่วมฉลอง วันขึ้นปีใหม่ ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นเขาสวายเพื่อไปนมัสการพระพุทธรูปให้เป็นสิริมงคล และสาดน้ำ รดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ ในช่วงวันหยุด 3 วัน จะมีการละเล่นมากมาย อาทิ
               ๑.เรือมตรษ เป็นการบอกบุญด้วยการร้องรำทำเพลง ซึ่งจะมีการจัดขบวนรำของหนุ่มสาว ไปตามบ้านต่างๆ เพื่อบอกบุญ เมื่อเจ้าของบ้านร่วมทำบุญแล้ว ก็จะมีการอวยชัยให้พร
               ๒.การทำบุญหมู่บ้าน เมื่อเรือมตรษเสร็จแล้ว ก็จะมีการทำบุญหมู่บ้าน ก่อนถึงวันพิธีจะมีการก่อเจดีย์ทราย เพื่อเป็นสิริมงคลกับหมู่บ้าน มีการนิมนต์พระมาฉัน และมอบเงินที่ได้รับจากการเรือมตรษถวายวัด
               ๓.การเล่นสะบ้า ใช้เม็ดมะค่าโมง จำนวนข้างละ ๒๐–๓๐ เม็ด ตั้งไว้ให้ฝ่ายตรงข้ามโยนลูกสะบ้าให้โดนล้ม ถ้าฝ่ายใดโยนล้มหมดก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ และจะได้เข็กหัวเข่าผู้แพ้ 

ประเพณีบุญวันสารท(แซนโดนตา)
                 เป็นการทำบุญเพื่อรำลึกถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อแสดงความ กตัญญูต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีขึ้นในช่วง วันขึ้น ๑๔–๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

ประเพณีโดนตา
                 เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญที่ปฏิบัติทอดกัน มาอย่างช้านานของชนเผ่าเขมรเป็นการแสดงออก ถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นถึงความรักความกตัญญูของสมาชิกในครอบครัว โดนตา หมายถึง การทำบุญให้ยาย และตา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลัยไปแล้ว ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐ ชาวเขมรถือว่า เป็นวันรวมญาติซึ่งทุกคนจะไปรวมกัน ณ บ้านที่จุดศูนย์กลางของครอบครัวโดยเฉพาะ บ้านของผู้ที่อาวุโส ที่สุดของครอบครัว ผู้ที่จะมาต้องเตรียมของเซ่นไหว้ เช่น ไก่ เนื้อ หมู ปลา ข้าวสาร ข้าวสวย กล้วย ผลไม้ ขนม กระยาสารท และข้าวต้มหางยาว ใส่กะเชอโดนตาเพื่อมาไหว้บรรพบุรุษของตนซึ่งส่วนใหญ่ จะประกอบพิธี ในช่วงบ่ายหรือตอนเย็น เริ่มจากผู้อาวุโสในครอบครัวทำพิธีเซ่นโดยกล่าวดังนี้ เครื่องเซ่นไหว้
               "นะโมเมนะมัสการ อัญจัญตีวดา นองสถานทินิแนะสถานตีปะเสง ๆ เออะตองมะเหสะสะเมืองแดนสะเตือลเนิวนองสถานตีวนิแนะสถานตีปะเสง ๆ ออย ตองขมอยมีบาโดนตา ไถงนิ ไถงก็เจีย เวลีย์ก็เบอ ขยมซมอัญจืญโจลโมรับเกรือง โฮบปซา กะนองเวลียนิปรอม ๆ คเนีย โฮบปซากระยาบูเจียกะนองเวลียนิออปรวม ๆ คเนีย (แล้วรดน้ำอัญเชิญพร้อมกล่าวว่า ) แม เอิว แยย ตา โมดอลเหย ออยเลียงใดเลียงจึงโมโฮบปซา แดลโกนเจารีบตะตูล เมียนสรา นมเนกเจกอันซอม กรุบกรึงเหยนา อัญจือโมโฮบปซาออยบอมโบร " (รออีกระยะประมาณ ๓-๔ นาที ก็รินน้ำ เหล้า น้ำส้ม โดยรินให้ครบ ๓ ครั้ง) ในช่วงเย็นก็จะนำกะเชอโดนตาไปวัดและค้างคืนที่วัดพอถึงเวลาประมาณตีห้าครึ่งจึงนำกระเชอไปเทที่หน้าวัด เพื่อทำทานให้ผีไม่มีญาติ สำหรับผู้ที่อยู่ทางบ้านจะเตรียม "บายบัดตะโบร" หมายถึง กระทงใส่ก้อนข้าวสุกจำนวน ๔๙ ก้อน (เนื่องจากเชื่อว่านางวิสาขาปั้นอาหารมาถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ฉันเพียง ๔๙ เม็ด เท่านั้น) เพื่อนำไปถวายพระในตอนเช้า เสร็จพิธีแล้วจะนำบายบัดตะโบรไปใส่ไร่นา เพื่อให้เกิดความสิริมงคลข้าวปลาในไร่นาจะได้อุดมสมบูรณ์ต่อไป ขอขอบคุณ

ประเพณีแข่งเรือ
              อำเภอท่าตูมเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำมูลมากกว่า ๑๐๐ ปี เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญในการคมนาคม ทางน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ จึงทำให้มี ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา ชาวท่าตูมมีความผูกผันกับแม่น้ำมูล มาโดยตลอดเป็นเวลาช้านาน โดยอาศัยแม่น้ำมูลเป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคและบริโภคเพื่อการเกษตร การคมนาคม ดังนั้นในทุกปีชาวท่าตูมจะได้รำลึกถึงพระคุณของแม่น้ำมูล โดยร่วมกันฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทุกหมู่บ้าน ริมแม่น้ำมูลได้ร่วมกันนำขบวนเรือยาวมาทอดกฐินร่วมกัน และนำเรือยาวมาร่วมแข่งขันกัน เพื่อความสนุกสนาน รื่นเริงและความสามัคคีของชาวท่าตูม และได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวสืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน ปัจจุบันชาวท่าตูม ได้จัดแข่งขันเรือยาวแระเพณีเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงสืบต่อไป โดยจัดแข่งขันประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล และเปิดโอกาสให้เรือยาว และกองเชียร์จากอำเภอท่าตูม ต่างจังหวัดมาร่วมแข็งขัน ชิงชัยเป็นจำนวนมาก

ประเพณีแซนแซร
                ประเพณีแซนแซร เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการทำนา ก่อนที่จะลงมือทำนาในฤดูฝนแล้ว ชนชาวส่วยจะทำพิธีที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ แซนแซร์ "แซน" แปลว่า เซ่น "แซร" แปลว่า นา หรือ ที่นา การประกอบอาชีพทำนาของชนชาวส่วย จะขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ เนื่องจากการทำนาจะทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง ดังนั การทำนาของชาวส่วย จึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พิธีกรรมที่สำคัญคือการแซนแซร์การแซนแซร์ จะกระทำอยู่ ๓ ขั้นตอน คือ ๑ ทำก่อนลงมือปักดำ เรียกว่า " แองัย " (เอาวัน) "แองัย" เป็นการกำหนดวันที่จะลงมือปักดา หรือไถนาดะ โดยจะนำ เครื่องเซ่นไหว้ไปบอกเจ้าที่นาก่อน เพื่อให้เจ้าที่ได้รับทราบว่าจะลงมือปักดำแล้ว ๒ ทำหลักเสร็จสิ้นการปักดำ เป็นการบอกเจ้าที่ให้ช่วยดูแลต้นข้าว ให้เจริญงอกงาม ให้ได้ผลผลิตมาก ๆ ๓ ทำหลักการเก็บเกี่ยว เป็นการบอกขอบคุณเจ้าที่นา ที่ช่วยให้การทำนา ในครั้งนี้ได้ผลดี วัน เวลา ปฏิบัติในฤดูการทำนา และจะทำพิธีในตอนเช้า

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแซนแซร
๑. ข้าวสุก ๑ จาน ๘. ไก่ต้ม ๑ ตัว
๒. ข้าวต้มมัด ๔ มัด ๙. กล้วยสุก ๔ ผล วาง ๔ มุม
๓. ก้อนดิน ๑ ก้อน ๑๐. มัดกล้า ๑ มัด
๔. เหล้าขาว และน้ำอัดลมอย่างละ ๑ ขวด ๑๑. น้ำเปล่า ๑ ขัน น้ำขมิ้น
๕. ผ้ายชุบขมิ้น ( เอาเรียกขวัญนาเจ้าของนา) ๑๒. ธูป เทียน
๖. ไม้ไผ่ ( ทำเป็นทีปักข้าวตอก )เป็นสัญลักษณ์ดอกข้าว
๗. ทำร้านโดยใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ( ทำเป็น ๔ มุม เสา ๔ ต้น )
              คำที่ใช้เรียกขวัญข้าว เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คือภาษาส่วย กล่าวดังนี้ "เจาเยอ อะเวียซอ แอเวียซอดัวะ บิออนจิเนียเจาเนีย มอแนะ ออนบึนซอดาล ๆ

ผู้ที่ปฏิบัติในการแซนแซร
๑. เป็นเจ้าของนา
๒. คนแก่คนเฒ่า
๓. คนอื่น ๆ ที่เจ้าของนามอบหมาย

           การถือปฏิบัติ จะปฏิบัติทุกครั้งในฤดูทำนา เพราะถ้าไม่ปฏิบัติ จะทำให้เจ้าของนา หรือลูกหลานเจ็บไข้ หรือป่วยได้

เจาเยอ แปลว่า มาเด้อมา (เป็นคำเรียกหา)
อะเวียยซอ แปลว่า ขวัญข้าว
แอ แปลว่า เอา
บิออนจิเนีย แปลว่า ไม่ให้ไปไหน
ดัวะ แปลว่า ไว้ เก็บไว้
มอแนะ แปลว่า ปีนี้
ออนบืนดาล แปลว่า ให้ได้มาก ให้ได้เยอะ ๆ

ประเพณีเซ่นผีปะกำ
                 ส่วย กวย หรือกูย เป็นชื่อเรียกของชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นชนชาติมาแล้วในอดีต มีภูมิลำเนาและอาณาเขตการปกครอง ของตนเองเหมือนชาติอื่น ๆ มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนให้ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แคว้น อัตปือแสนแป ต่อมาได้เดินทางอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยอละแยกย้านกันไปตั้งหลักแล่งในจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดอุบลราธานี ศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย ๑๕๗ ครอบครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่คือ ชาวกวย เลี้ยงช้างที่ปฏิบัติสืบทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีช้าง จำนวนมากว่าหมู่บ้านอื่น มีช้างประมาณ ๕๐ เชือก ทางราชการจึงกำหนดให้บ้านตากลาง เป็นหมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักแก่บุคคลโดยทั่วไปที่ได้ชม ประเพณีแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านตากลางได้ร่วมกันนำช้างของตนเข้าร่วมแสดงเป็นประจำทุกปี ชนชาวส่วยและการแต่งกาย ชนชาวส่วยหรือกูย มีความยึดมั่น และเคร่งครัดในประเพณีเป็นอย่างมาก มีความเชื่อเรื่องของผีสางเทวดา ไม่ลบหลู่สิ่งที่ตนเองเคารพบูชา ซึ่งในแต่ละครอบครัวจะมีผีซึ่งตนเองเคารพอยู่ประจำ ที่เราเรียกว่า "ผีปะกำ" ลักษณะความเป็นอยู่ของชนชาวส่วย โดยส่วนมากแล้วจะชอบอยู่เป็นกลุ่มโดยเฉพาะลูกหลานที่แต่งงานแล้ว จะแยกครอบครัวออกจากครอบครัวใหญ่ พ่อ - แม่ ก็จะสร้างบ้านในที่ติดกันกับบ้านหลังเดิม หรือไม่ก็ต่อชานเรือน ให้ลูกอยู่ จึงดูเป็นครอบครัวใหญ่ การประกอบอาชีพ ในอดีตชาวส่วยมีอาชีพสำคัญคือ การคล้องช้างป่ามาฝึก เพื่อขาย หรือนำช้างไปใช้งาน แต่ในปัจจุบัน อาชีพดังกล่าว ไม่มีอีกแล้ว แต่มีการฝึกช้างไปใช้ในการแสดง หรือการท่องเที่ยวมากกว่า และอาชีพที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาชีพทำนา และในเวลาที่ว่างจากการเก็บเกี่ยว ชาวส่วยจะนำช้างออกไปเร่ขายสินค้าที่ทำมาจากงาช้าง หรือขนหางช้าง เช่น แหวนงาช้าง กำไลงาช้าง น้ำมันช้าที่ผ่านการปลุกเสกพระงาช้าง เป็นต้น ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับชาวส่วยพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ การเซ่นผีปะกำ จะกระทำก็ต่อเมื่อมีการไปคล้อง้าง พิธีแต่งงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่คนในครอบครัวจัดให้มีขึ้น เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้เซ่นผีปะกำของตนเองแล้ว จะมักให้มีอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ถ้าได้เซ่นผีปะกำถูกต้องตามประเพณีแล้ว จะทำให้ชีวิตมีแต่ความสงบสุข และการกิจกรรมดังกล่าว จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี การประกอบพิธีเซ่นผีปะกำ ก่อนที่จะกระทำสิ่งไดก็ตาม เช่น การออกไปคล้องช้าง หรือการแต่งงาน จะต้องเซ่นผีปะกำก่อน

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเซ่นผีปะกำ

๑.หัวหมู ๑ หัว พร้อมกับเครื่องในหมูทุกชนิด ๗.บุหรี่ ๒ มวน
๒.ไก่ต้มสุก ๑ ตัว ๘.ข้าวสวย ๑ จาน
๓.เหล้าขาว ๑ ขวด ๙.แกง ๑ ถ้วย
๔.กรวยใบตอง ๕ กรวย มีดอกไม้เสียบในกรวย ๑๐.ขมิ้นผง
๕.เทียน ๑ คู่ ธูป ๓ ดอก ๑๑.น้ำเปล่า ๑ ขัน
๖.หมาก ๒ คำ ๑๒.ด้ายผูกแขน

 ประเพณีและวัฒนธรรม อำเภอท่าตูม
                  ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ที่มีวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม ยึดถือปฏิบัติมาช้านานซึ่งมีหลายประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกับที่อื่นๆ หากวิธีการปฏิบัติบางครั้งอาจ ไม่เหมือนกัน หรือมีความแตกต่างกันในบางอย่าง แต่ประเพณีต่างๆ เหล่านั้นก็ยังเป็นประเพณีที่ถือได้ว่า มีความสำคัญ เป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตตอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นอย่างยิ่ง กรณีที่มีความเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน ที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองให้คนในหมู่บ้าน เกิดความร่มเย็น ปราศจากอันตราย จึงได้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในวันสำคัญของประชาชนในเขตอำเภอท่าตูม เช่น ผีปู่ตา ผีปู่ตา หรือ ผีตาปู่ เป็นดางวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่คอยปกป้องคุ้มครอง ให้คนในหมู่บ้าน มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ดังนั้น ผีปู่ตาจึงเปรียบเสมือนที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน เมื่อได้รับ ความเดือดร้อน เช่น เจ็บป่วย พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่อุดมสมบูรณ์ หรือทำมาค้าขายไม่ได้ดี ก็จะไป (บนบาน) เพื่อวิงวอนให้ให้เจ้าปู่ช่วยดลบันดาลให้ประสบตามความปรารถนา เมื่อได้ในสิ่งที่ปรารถนาแล้ว ผู้บนบานก็จะนำ อาหารคาวหวานมาแก้บน ด้วยเหตุนี้เอง ผีปู่ตา จึงเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ผูกพันกับการดำเนินชีวิต ของชาวอีสานโดยเฉพาะชาวอำเภอท่าตูม มาโดยตลอด ผีปู่ตา ยังเป็นแหล่งรวมจิตใจของผู้คนในชุมชน ไม่แบ่งแยกฐานะคนในสังคมว่า เป็นคนรวยหรือคนจนก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชนได้ ในแต่ละหมู่บ้าน จะสร้างศาลปู่ตา หรือเรียกว่า "ตูบปู่ตา" ไว้ประจำหมู่บ้านการสร้างศาลปู่ตามักจะสร้างบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน หรือบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ พิธีกรรมการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับดวงวิญญาณ จะกระทำเป็นประจำ ทุกปีเรียกว่า "การเลี้ยงผีปู่ตา" โดยทั่วไปมักจะกำหนดข้างขึ้นเดือนหก ก่อนฤดูกาลทำนา ก่อนถึงวันพิธี ชาวบ้านจะไปช่วยกันถากถางทำความสะอาดบริเวณตูบปู่ตา สำหรับผู้ที่จะไปไหว้ จะต้องนำเครื่องเซ่นไว้ เช่น อาหารคาวหวาน ไก่ เหล้า ไปถวายปู่ตาพร้อมกับคนอื่น ๆ เมื่อได้เวลาอันสมควรหมอจ้ำ (ตัวกลางผู้ทำพิธี) จะจัดเตรียมเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ถาด เสื่อ มีดดาบ ของ้าว เสื้อคลุม ไว้ในที่เหมาะสม การเริ่มพิธีบูชาเจ้าปู่ ชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชา เจ้าปู่พร้อมทั้งกล่าวความสรุปได้ว่า "ประชาชนทุกคนในที่นี้เป็นลูกบ้าน ที่เปรียบเสมือนเป็นลูกหลานของเจ้าปู่ ได้พร้อมใจกันนำเครื่องเซ่นไว้มาถวายเจ้าปู่ ขอได้โปรดให้เจ้าปู่รับของถวาย ของเหล่านี้ด้วย พร้อมทั้งขอให้ลูกหลานในที่นี้ได้มีโอกาสชื่นชมบารมีอภินิหารของเจ้าปู่ ขอให้เจ้าปู่เข้าซูน (เข้าร่าง) หมอจ้ำ" เมื่อเจ้าปู่เข้าซูมแล้วหมอจ้ำจะเดินพูดคุยกับชาวบ้านด้วยเรื่องราวต่างๆ นาๆ ตามแต่ชาวบ้านจะซักถาม เช่นเรื่องเจ็บป่วยต่าง ๆ ของหาย ฟ้าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ ตลอดจนการกลับมาของญาติที่จากไปนาน จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสที่มนุษย์ได้ติดต่อกับดวงวิญญาณ จาการพิจารณาอากัปกริยาของหมอจ้ำ การจรรโลงไว้ซึ่งจารีตประเพณีของท้องถิ่นอันเนื่องด้วยพิธีกรรมต่างๆ อย่างมั่นคง คนทั่วไปอาจมองเห็นว่า ทางด้านความเชื่อ วิถีชีวิตขอองชาวอีสานได้เปลี่ยนแปลงไปจนแทบจะไม้เหลือร่องรอยวัฒนธรรมที่ดีงาม เหมือนในอดีตก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวอีสานยังมีจิตใจสำนึกในการประพฤติปฏิบัติตามฮีต ((จารีต) สืบต่อกันมา ถึงแม้ว่าในการจัดพิธีกรรมต่างๆ จะต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางวังคม เศรษฐกิจ และเวลาให้สอดคล้องกันเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน แต่สังคมชนบทอย่างอำเภอท่าตูมยังสืบทอดมาจากพรรพบุรุษอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจบันอย่างไม่มีวันที่จะเสื่อมคลาย

งานประเพณีบวชนาคแห่ช้าง
               ประเพณีบวชช้าง จัดขึ้นในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดื่อน 6 (ราวกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง อ.ท่าตูม จะมีการแห่แหนบรรดานาคด้วยขบวนช้างกว่า 50 เชือก ข้ามลำน้ำมูลกันอย่างเอิกเกริก, พิธีโกนผมนาค, พิธี แห่นาคช้างไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ ศาลเจ้าพ่อวังทะลุ และพิธีอุปสมบทนาค

งานช้างสุรินทร์
                 จังหวัดสุรินทร์ เป็นถิ่นฐานของชาวไทยเชื้อชาติสายกูย เป็นขนเผ่าที่เชี่ยวชาญการจับช้าง เลี้ยงช้าง และฝึกช้างมาแต่อดีตกาล แม้วันนี้การคล้องช้างป่าจะยุติไปแล้วแต่พวกเขายังเลี้ยงช้างไว้ดั่งสัตว์เลี้ยงของครอบครัว ชาวสุรินทร์ได้เคยทำชื่อเสียงให้แต่ประเทศไทยมาแล้ว และเมื่อ "การแสดงของช้าง" ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2503 นั้น ทำให้นามของจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและขาวต่างประเทศตลอดมางานช้างสุรินทร์ จัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนพฤศจิกายน ในงานจะมีการแสดงต่างๆ ของช้าง เช่น ช้างเล่นฟุตบอล ช้างเต้นระบำ ขบวนพาเหรดของช้าง ขบวนช้างศึก เป็นต้น

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม